2020-01-17_บทความชุด "ฉันอ่าน" ตอนที่ 4 ทำไมต่างชาติถึงต้องมาค้าขายกับกรุงศรีอยุธยา และการขุดคลองลัดอ้อมนนท์ ลัดแม่น้ำเจ้าพระยา @ 17 มกราคม 2563

สวัสดีครับทุกท่าน สำหรับตอนที่ 4 ผมต้องแจ้งทุกท่านว่า มันอดใจไม่ไหว ที่คงต้องแทรกข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้สอดรับกับเรื่องการขุดคลองลัด ในช่วงต้นของบทความจึงอยากพาทุกท่านย้อนอดีตกับคำถามว่า ทำไมต้องขุดคลองลัดเพื่อให้เรือสำเภาถึงพระนครเร็วขึ้น ทำไมเรือสำเภาของต่างชาติทั้งฝั่งตะวันตก และฝั่งตะวันออกถึงต้องมาเทียบท่าค้าขายที่กรุงศรีอยุธยา ทั้งๆ ที่อยู่ลึกเข้ามาจากปากอ่าวเป็น 100 กิโลเมตร จะเห็นว่าเป็นเหตุเป็นผลสอดคล้องกัน ก็เพราะเรือสำเภาต้องมาค้าขายที่กรุงศรีอยุธยา พระมหากษัตริย์แต่ละยุค จึงต้องมีการขุดคลองลัดเพื่อให้เรือสำเภาใช้เวลาให้น้อยที่สุด เป็นการอำนวยความสะดวกในการค้าขาย เพราะกรุงศรีอยุธยาในอดีตเป็นศูนย์กลางการค้าที่ยิ่งใหญ่แห่งหนึ่งของโลกก็ว่าได้

เฉพาะเรื่องการค้าขายในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้นหากจะพิมพ์บทความให้อ่าน คงจะมีข้อมูลมหาศาล ผมขอย่อตามความเข้าใจของผมเองสั้นๆ คือ กรุงศรีอยุธยามีสินค้าที่ดี โดยเฉพาะสินค้าที่มาจากธรรมชาติ รวมถึงผลผลิตทางการเกษตร อีกอย่างที่ผมคาดว่าน่าจะเกี่ยวข้องด้วยคือเครื่องสังคโลก ที่ทำจากดินเหนียว อาจจะเพราะบริเวณตั้งแต่พระนครศรีอยุธยาลงมาถึงปากอ่าวไทยเคยเป็นทะเลมาก่อน ทำให้ในหลายพื้นที่มีดินเหนียวที่มีคุณภาพ ไม่นับรวมกับอีกหลายเมืองที่อยู่รอบๆ กรุงศรีอยุธยาที่ก็สามารถผลิตเครื่องปั้นดินเผา ซึ่งเป็นที่ต้องการของชาวจีนและชาวยุโรป ต่างชาติที่ค้าขายโดยใช้เรือสำเภาจึงต้องแวะที่กรุงศรีอยุธยาเพราะมีสินค้าครบทุกความต้องการ และประชากรของกรุงศรีอยุธยากับหัวเมืองต่างๆ ก็ยังเป็นลูกค้ารายใหญ่อีกด้วย

จากบันทึกของชาวยุโรปบันทึกว่า มีการใช้เรือมากมายจนแน่นลำคลอง แม่น้ำเจ้าพระยา





ในอดีตนั้นการเดินเรืองมีความจำเป็นต้องเดินเรือเลียบชายฝั่งไปเรื่อยๆ เพราะสมัยอดีตไม่มีระบบ GPS จึงไม่สะดวกที่จะเดินเรือผ่ากลางมหาสมุทร ดังนั้นหัวเมืองตามชายฝั่งทะเลจึงมีความเจริญรุ่งเรืองมาก แต่กรุงศรีอยุธยามีความรุ่งเรืองเพราะยังมีอีกหลายปัจจัย เช่น การศาสนาที่ไม่ปิดกั้น การเมืองที่เปิดกว้าง การให้พื้นที่ตั้งหมู่บ้านของชาวต่างชาติ การยอมรับวัฒนธรรมของต่างชาติ การมีแหล่งน้ำจืดสำหรับบริโภคไว้ระหว่างเดินเรือ แรงงาน ที่นอกเหนือจากตัวสินค้าที่หายาก และครบถ้วนจากหลายประเทศ รวมถึงการขนส่งทางบกและเรือเล็กตามลำคลอง เรียกว่า มีการคมนาคมขนส่งที่สะดวก คลองเยอะ ประมาณนั้นครับ



ตำแหน่งหมายเลข 3 คือบริเวณการขุดคลองลัดอ้อมนนท์ ในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง
กว่า 400 ปีผ่านมาแล้ว ด้วยเหตุผลสำคัญทางการค้า ให้เดินทางสั้นลง


จะเห็นว่าหลายเหตุผลที่กรุงศรีอยุธยาเป็นศูนย์กลางการค้าในอดีตอย่างแท้จริง ทำให้มีเรือสำเภามาค้าขายกับเราในอดีตจำนวนมาก แม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิมที่มีความคดเคี้ยวอย่างมาก หลายช่วง รวมถึงช่วงคลองอ้อมนนท์ (ในปัจจุบัน) จึงมีการขุดคลองที่บริเวณปากคลองอ้อม ลัดตรงมาที่วัดเขมาภิรตาราม ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร ซึ่งย่นระยะทางแม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่าช่วงนี้ไปได้ 17.5 กิโลเมตร ในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง กว่า 400 ปี

ผมขอคัดลอกข้อความที่ได้พิมพ์ไว้เกี่ยวกับคลองอ้อมนนท์ มาให้อ่าน 3 ย่อหน้า ตามลิงก์นี้ https://preedanoikendezu.blogspot.com/2017/11/21.html ดังนี้ครับ

"กว่า ๔๐๐ ปี ในสมัยของพระเจ้าปราสาทอง ลักษณะของเส้นทางแม่น้ำช่วงระหว่างปากคลองอ้อม ในปัจจุบัน ถึงวัดเขมาภิรตาราม มีระยะทางถึง ๑๗.๕ กิโลเมตร มีลักษณะคดเคี้ยวไปมาผ่านวัดต่างๆ ถึง ๒๙ วัด หาดูจากแผนที่ แม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่าช่วงนี้ปัจจุบันคือ คลองอ้อม เชื่อมคลองบางกอกน้อย ซึ่งตีวงอ้อมไปถึงบางใหญ่ ซึ่งตรงนี้เองที่ในอดีตผมเคยมีคำถามว่า ในพื้นที่บริเวณบางใหญ่ บางกรวย ถึงตลิ่งชัน ทำไมถึงมีวัดมากมายทั้งๆ ที่ไม่มีแม่น้ำ แต่ก็มีคลอง คำถามในหัวผมที่แกะไม่ออกคือ วัดเยอะก็ใช่ แต่ทำไมเยอะมากคือ ถี่ติดๆ กันเลย เรียกว่าบางทีเข้าใจผิดว่าเป็นวัดเดียวกันก็มีโดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอบางใหญ่เดิม หากผู้อ่านนึกเส้นทางแม่น้ำเจ้าพระยาเก่าไม่ออก อาจจะลองนึกถึงถนนบางกรวย-ไทรน้อย แทนนะครับ ค่อนข้างใกล้เคียงกับแนว “คลองอ้อม” หรือเรียกว่า “คลองอ้อมนนท์” ครับ และเพราะเส้นทางแม่น้ำจ้พระยาสายเก่านี่เอง หากจะมีอู่ต่อเรือสำเภาตรงบริเวณไทรม้าท่าอิฐที่ศูนย์รถยนต์ฟอร์ดที่คุณบ๊วยไปออกรถ ก็เรียกว่าใกล้เคียงเลยทีเดียวครับ

เมื่อมีการขุดคลองที่เชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยาตรงบริเวณปากคลองอ้อม ที่ตั้งศาลเจ้าพ่อหลักเมืองนนทบุรีเดิม (ปากคลองอ้อม) ถึงวัดเขมาภิรตาราม ที่มีลักษณะลัดตรง ความยาวประมาณ ๕ กิโลเมตร ธรรมชาติก็เสกสรรให้กลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาในปัจจุบัน ส่วนแม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่า วันเวลาผ่านไปก็เริ่มตื้นเขินจนเป็นคลองอ้อมในปัจจุบัน แต่ไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมคลองอ้อมถึงมีความกว้างพอสมควร ก็เพราะเคยเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่านั่นเองครับ

๑๕.๒๐ น. พวกเรามาถึง “ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองนนทบุรีเดิม (ปากคลองอ้อม)” ที่สถานที่โบราณนี้มีชุมชนรายล้อม ศาลตั้งอยู่เชิงสะพานถนนเลี่ยงเมืองนนท์ ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาหันหน้าไปทางแม่น้ำเจ้าพระยา มีอายุกว่า ๓๕๐ ปี เนื่องจากในอดีตสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ เมื่อราษฎรเมื่อมีการอพยพหนีข้าศึกลงใต้จากอยุธยามาแล้วในบริเวณนนทบุรีมักไม่กลับพระนคร ในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์จึงให้ตั้งเมืองนนทบุรีเพื่อไว้เกณฑ์ไร่พลเป็นทหาร ต่อมาเมื่อแม่น้ำเจ้าพระยาขยายใหญ่ขึ้นข้าศึกถึงพระนครเร็วกว่าเดิม ในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงสร้างป้อมปราการไว้ต้านข้าศึก และให้ตั้งศาลหลักเมืองนนทบุรีบริเวณปากคลองอ้อมนี้ เมื่อพวกเราเข้าไปสักการะพบว่า ที่ศาลเดิมนี้มีทั้ง “เจ้าพ่อหลักเมือง” “พระเสื้อเมือง” และ “พระทรงเมือง” ด้วย รวมถึงภาพสักการะ “สมเด็จพระนารายณ์มหาราช” และในพื้นที่นี้ยังพบซากจรเข้จึงเชื่อว่าเคยเป็นวังจรเข้มาก่อนทำให้มี “กุมภีร์เงิน-กุมภีร์ทอง ผู้เป็นบริวารของเจ้าพ่อหลักเมือง” ต่อมามีชาวบ้านได้อัญเชิญ “เจ้าแม่ทับทิม” และ “เจ้าพ่อแสงมณี” มาประดิษฐานด้วย เราอยู่ตรงนี้ไม่นานเพราะต้องรีบเดินทางไปสถานที่สุดท้ายของวันปีใหม่ ๒๕๖๓ นี้ครับ คือ “วัดปราสาท” ซึ่งเป็น ๑ ใน ๒๙ วัดที่แม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่าไหลผ่าน"

เท่ากับว่า ผ่านไปแล้วนะครับการขุดคลองลัด 3 ครั้งสำคัญๆ ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนเส้นทางเดินของแม่น้ำเจ้าพระยา ครับ
  • ครั้งที่ 1 การขุด "คลองลัดบางกอก" กว่า 500 ปี ในสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช
  • ครั้งที่ 2 การขุด "คลองลัดเกร็ดใหญ่" กว่า 450 ปี ในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม
  • ครั้งที่ 3 การขุด "คลองลัดเมืองนนท์" กว่า 400 ปี ในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง

สำหรับตอนที่ 5 ผมจะพิมพ์ข้อมูลที่มาของชื่อคำว่า "เจ้าพระยา" กับการขุดคลองลัดสำคัญอีก 2 คลองในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันในสมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระครับ


พิมพ์เมื่อ 17 มกราคม 2563


ข้อมูลอ้างอิง:

ภาพถ่ายแม่น้ำเจ้าพระยา:


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น


บทความที่ได้รับความนิยม 10 อันดับแรกครับ